Full width home advertisement

XovsRk.jpg

Advertisement

XovsRk.jpg

บพข. กองทุน ววน. กรมการท่องเที่ยว และ อบก. ผนึกกำลังสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยสู่ Net Zero Tourism

บพข. กองทุน ววน. กรมการท่องเที่ยว และ อบก. ผนึกกำลังสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยสู่ Net Zero Tourism

 บพข. กองทุน ววน. กรมการท่องเที่ยว และ อบก. ผนึกกำลังสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยสู่ Net Zero Tourism


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายคือการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน (Carbon Neutral Tourism : CNT) สู่ Net Zero Tourism ในบริบทนี้ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) กรมการท่องเที่ยว และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

 


โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่าง แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กรมการท่องเที่ยว และ อบก.  นำโดยผู้บริหารทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่  คุณณัฏฐิรา แพงคุณ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. คุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัย บพข.

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการกล่าวถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงาน โดย บพข. มีบทบาทในการหนุนเสริมภาควิชาการด้านการสนับสนุนการวิจัย นวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว  ซึ่งที่ผ่านมา บพข. ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนามาตรฐาน PCR บริการท่องเที่ยว และแนวทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ Nature-based Solution (NbS) ในแหล่งท่องเที่ยว 33 แห่ง รวมถึงการริเริ่มจัดทำ Carbon Footprint Organization (CFO) ภาคบริการการท่องเที่ยว โดยมี โรงแรม 7 แห่ง และผู้ประกอบการขนาดเล็ก  4 กิจการเข้าร่วมดำเนินการ อีกทั้งยังมีการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการองค์กรจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว Destination Management Organization : DMO ระดับจังหวัด ที่จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงได้มีการพัฒนา Zero Carbon Application ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ 2,235 ราย ประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ 600 ครั้ง และชดเชยคาร์บอน 425 tCO2eq สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชน คือ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ TEATA นั้น ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัย/นักวิชาการราว 20 มหาวิทยาลัย โดยร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์/เส้นทาง/กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก.จำนวน 183 เส้นทาง ครอบคลุม 77 จังหวัด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโปรแกรมปกติ คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,250 tCO2eq เหลือ 1,550 tCO2eq โดยลงได้ราว 700 tCO2eq คิดเป็นร้อยละ 31 

ช่วงปี 2568-2570 บพข. เตรียมพร้อมในการผลักดันการท่องเที่ยว Carbon Neutral Tourism : CNT) สู่ Net Zero Tourism โดยตั้งเป้าหมายในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จำนวน 44 แห่ง ประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ อุทยาน และการท่องเที่ยววิถีสายน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้จะมีการพัฒนาเครื่องมือ Net Zero Pathway ของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ร่วมกับ อบก. และองค์กรนานาชาติ เช่น UN Tourism, GSTC, WTTC, The Travel Foundation, และ Nature-based Solutions Initiative โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ประเทศไทยมีต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สอดคล้องกับแนวทางของ CBD, UNFCCC ตลอดจนมีแผนในการปรับตัวและความยืดหยุ่นในภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืนภายในปี 2570 ซึ่ง UN Tourism ประกาศให้เป็น International Year of Sustainable & Resilient Tourism



ทั้งนี้ ทิศทางการดำเนินงานของ บพข. มีความสอดคล้องกับภารกิจของกรมการท่องเที่ยวในการดำเนินงานให้บรรลุผลตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) เกี่ยวกับเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวลงร้อยละ 2 ต่อปี โดยกรมการท่องเที่ยวจะมีบทบาทเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลการวิจัยนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ กรมการท่องเที่ยวได้วางแนวทางดำเนินการในการสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจภาคการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่าน  Zero Carbon Application พร้อมทั้งรวบรวมและจัดทำเป็นฐานข้อมูล นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการสร้างและขยายผลต้นแบบสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองจาก อบก. พร้อมทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายผ่านกลไกคณะกรรมการการท่องเที่ยวยั่งยืนแห่งชาติ แนวทางในการสร้างมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษีและการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับแก่นักท่องเที่ยว ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

ในด้านของ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะสนับสนุนระเบียบ วิธีการเชิงเทคนิค และการสร้างเครื่องมือ กลไกการหนุนเสริมเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้ Net Zero Tourism เกิดขึ้นจริงและเป็นรูปธรรม การผนึกกำลังครั้งนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญ โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง บพข. กรมการท่องเที่ยว และ อบก. การจัดตั้งคณะทำงานนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และวางแผนการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนการพัฒนาโครงการร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ การผสมผสานมาตรฐานของกรมการท่องเที่ยวเข้ากับมาตรฐานจากผลการวิจัยชั้นแนวหน้าของ บพข. สู่ภาคปฏิบัติ เกิดความร่วมมือในการสร้างต้นแบบผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยว Net Zero Tourism การยกระดับทักษะของบุคลากรภาคการท่องเที่ยว และการริเริ่มในการสร้าง DMO การท่องเที่ยว Net Zero Tourism ในระดับชาติ จึงนับเป็นการทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของ Net Zero Era ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความซับซ้อนและท้าทายที่ทุกเศรษฐกิจและสังคมโลกต้องเผชิญและก้าวผ่านไปให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ads

XovsRk.jpg