ในระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูง เชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษา โดยแบ่งสถานที่อบรมเป็น 3 จุด ได้แก่ สพป.พิจิตร เขต 1 โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก “ราษฎร์อุทิศ” สพป.พิจิตร เขต 2 และ สพป.นครสวรรค์ เขต 2 ทั้งนี้มีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 468 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นด้วยที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active learning มาใช้และเห็นด้วยที่จะให้มีการผลักดันกันทั่วประเทศเพราะที่ผ่านมามีการนำรูปแบบนี้มาใช้แต่ยังไม่สมบูรณ์มากพอ ซึ่งการเรียนการแบบ Active learning เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยพัฒนาขึ้น และสามารถสร้างนวัตกรรมเองได้ โดยได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการศึกษาให้ดีขึ้น และอยากให้ขับเคลื่อนรูปแบบที่มุ่งเน้นให้ครูมีกระบวนการคิดขั้นสูงให้ครอบคลุมในประเทศโดยเร็ว เพราะอยากเห็นความสำเร็จของการศึกษาไทยออกมาอย่างสมบูรณ์ และเด็กไทยได้ประโยชน์สูงสุด
ในการอบรมครั้งนี้ นายธงชัย จันแย้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ ห้องประชุมชาละวัน สพป.พิจิตร เขต 1 นางสนม เสริฐผล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2 เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ ห้องประชุมปทุมเพชร โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก “ราษฎร์อุทิศ” สพป.พิจิตร เขต 2 และนายสายัณห์ สีคง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 2 เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ ห้องประชุมเขาหลวง สพป.นครสวรรค์ เขต 2 โดยสาระสำคัญในพิธีเปิดได้กล่าวถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์และวิธีการปฏิบัติทั้งในด้านการคิดและการลงมือทำติดตัวผู้เรียน ให้สามารถนำไปใช้ในอนาคตที่มีองค์ประกอบที่ไม่แน่นอน ไม่ตายตัว ไม่มีสูตรสำเร็จให้ใช้ได้ คือ วิธีการเรียนรู้ วิธีการทำงานที่นำสู่ผลที่ดี และกระบวนการหาคำตอบจากตัวแปรที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปลูกฝังไว้ในตัวผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรมในทุก ๆ โรงเรียน ด้วยการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนให้ครูเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนวัตกร ที่นำไปสู่การเพิ่มพูนมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านได้ให้ความสนใจ ในสาระสำคัญและเทคนิคกระบวนการ ให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้มีทักษะอย่างเพียงพอที่จะไปผลักดันการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียนในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้ผู้เรียนเกิดรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่สามารถประเมินตามสภาพจริงโดยใช้เกณฑ์มิติคุณภาพ (Rubrics) สะท้อนให้เห็นถึงระดับคุณภาพและร่องรอยการพัฒนาของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรมให้ตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการพัฒนานวัตกรรมการสอนของครูให้ส่งผลถึงการสร้างนวัตกรรมของนักเรียน สร้างคุณค่าให้เกิดคุณประโยชน์กับประเทศชาติด้วยการยกระดับพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น นับเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติในระยะยาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น